วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างบสารอินทรีย์

น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสารอินทรีย์


Wednesday, 04 April 2007
น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสารอินทรีย์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพร่างกายของมนุษย์ มีราคาแพงไม่คุ้มกับผลผลิตที่ได้ ชาวบ้านจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมี โดยมีการทดลองใช้สารอินทรีย์ในหลายๆ รูปแบบและพยายามคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ
นายเชิด พันธ์เพ็ง แกนนำชุมชน จ.อยุธยาเล่าว่า ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกได้ทดลองทำสารสกัดน้ำส้มควันไม้ขึ้น จึงได้ชักชวนกันไปศึกษาดูงาน จากนั้นจึงได้ลงมือปฏิบัติทำน้ำส้มควันไม้ ภูมปัญญาชาวบ้าน สร้างสารอินทรีย์ขึ้นมา แรกเริ่มมีคนทำอยู่ 10 คน โดยชาวบ้านจะนำไม้ที่กรมทางหลวงตัดทิ้ง จากการตัดแต่งต้นไม้ริมถนนหรือใช้ไม้ในสวนบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องทำครัวเรือน ไม่ให้ทำเป็นเชิงธุรกิจ เพราะจะทำให้ต้นไม้หมดไปได้ ถ้าไม่มีการปลูกทดแทน
ขั้นตอนในการทำน้ำส้มควันไม้ เริ่มจากก่ออิฐบล็อก กว้างและสูงประมาณ 1.5 เมตร และยาวประมาณ 2 เมตร นำถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ตัดปากให้กว้างและเจาะปลายถังให้เท่ากับกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาวางแล้วใส่ตะแกรง นำไม้ที่จะเผาใส่ลงไปในถังแล้วติดไฟจนคิดว่าเตาติดแล้วจึงปิดปากเตาพอประมาณฝ่ามือเพื่อปล่อยอากาศเข้าไป เมื่อดูแล้วควันเป็นสีน้ำตาลจึงนำไม้ไผ่ไปครอบไว้กับท้ายเตาเผาที่มีปล่องเจาะไว้เพื่อจะให้อากาศออก เมื่อความร้อนที่เผาไหม้ลอยออกทางปลายไม้ไผ่กระทบกับความเย็นรวมตัวกันเป็นหยดน้ำแล้วทิ้งไว้จนเตาเผาดับใช้เวลาประมาณ 24ชั่วโมง ก็จะได้น้ำส้มควันไม้ โดยเตาหนึ่งจะได้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 5 ลิตร นำมาทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 3 เดือน จึงนำออกมาทดลองใช้ ส่วนถ่านที่ได้ก็สามารถนำไปขายถือว่าได้กำไรสองต่อ
นายเชิด พันธ์เพ็ง เล่าอีกว่า แต่ก่อนชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยและฉีดสารเคมีในการปลูกพืชผักและฉีดพ่นกันแมลง ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตสูงมาก จึงคิดทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุน การไปดูงานที่ ม.นเรศวร ทำให้ชาวบ้านเห็นทางออกที่จะนำ เชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม พยายามให้ชาวบ้านหันกลับมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการตัดตกแต่งกิ่งไม้ให้นำมาเผาถ่าน เพื่อทำน้ำส้มควันไม้เพื่อเอาไปรดพืชผัก รดข้าว แล้วบางส่วนก็เอาไปทดลองกับสัตว์ ชาวบ้านบอกว่าได้ผลดีมากจึงได้ช่วยกันลงมือทำน้ำส้มควันไม้อย่างเอาจริงเอาจัง
จากการทดลองใช้น้ำส้มควันไม้กับพืช เช่นผักบุ้ง เริ่มตั้งแต่เตรียมดินแล้วฉีดยาพ่นตากดินทิ้งไว้จึงปลูกผัก เมื่อพืชแทงยอดอ่อนขึ้นมาจึงฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ลงไปอีกประมาณ 3 ครั้ง โดยอัตราส่วนที่ใช้น้ำส้มควันไม้ 20 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร จะไม่มีแมลงมารบกวนเลย ลำต้นจะแข็งแรงมาก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วน้ำหนักดี ทิ้งไว้ค้างคืนลำต้นจะไม่เหลือง รสชาดดี เป็นที่ยอมรับของตลาด
ด้านนายพำ เสนานาท เครือข่ายน้ำส้มควันไม้ อำเภอเสนา เล่าว่ามีความสนใจจึงได้เข้าร่วมฟังเวทีแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านและได้รับการชักชวนจากคุณเชิด เลยลองทำดู เตาแรกไม่ได้ผลเลย ต่อมาทำเตาที่สองก็ได้ผลประมาณ 50 % จนมาถึงเตาที่ 5 ได้ผลเกือบ 100 % เพราะนั่งเฝ้าดูตลอดเวลาและทำตามขั้นตอนอย่างละเอียด ไม้ที่ใช้ส่วนมากจะใช้ไม้แห้งซึ่งเป็นไม้ที่ให้น้ำส้มควันไฟดีมีความเข็มข้นได้ดีกว่าไม้เปียก
ตอนแรกก็ปลูกผักหลายๆ อย่าง ใช้สารเคมีไปก็แพ้สารเคมีจึงได้เริ่มใช้น้ำส้มควันไม้ โดยทดลองกับดาวเรืองและบานไม่รู้โรย ลำต้นแข็งแรงดีมาก ดอกดกจนต้องตัดทิ้งก็มี ซึ่งฉีด 7 วันต่อครั้งระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวนาน เหี่ยวเฉาช้าอยู่ได้ 4-5 วัน ตอนนี้ไม่ได้ใช้สารเคมีมา 2 ปีแล้ว
ส่วนถ่านที่เผารู้สึกว่าไฟจะกล้าดีมากและอยู่ได้นาน ปัจจุบันนี้ไม่มีถ่านจะขาย ไม่พอส่ง เจ้าหนึ่งจะสั่งทีละ 100 ถุง ต้องสั่งจากเครือข่ายมาขาย
กรณีที่นำมาใช้กับสัตว์ คือสุนัขที่เป็นโรคเรื้อน เอาสำลีชุบกับน้ำส้มควันไม้ทาสัก 1-2 อาทิตย์จะทำให้หายได้ โดยแผลจะแห้งและมีขนขึ้นตามปรกติ นอกจากนี้ยังสามารถทากันยุงได้ด้วยจะมีอาการแสบนิดหน่อยในตอนแรกสักพักจะเย็น
ด้านนายคำพา หอมสุดชา เครือข่ายน้ำส้มควันไม้ อำเภอภาชี เล่าว่า การทดลองนำน้ำส้มควันไม้มาใช้กับนาข้าว แล้วฉีดพ่น 4 ครั้ง ได้ผลเกือบ 100% สภาพดินดีขึ้น คือดินที่แข็งสามารถทำให้ร่วน ผลผลิตได้มากกว่าเดิม จากปกติ 1 ไร่ ได้ 70 ถัง แต่พอใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ไร่ ได้ 110 ถัง ไม้ที่ใช้เผาส่วนมากจะเป็นสะเดาและสะแก เมื่อก่อนต้นทุนที่ใช้สารมีตกไร่ละ 2500 บาท แต่พอใช้น้ำส้มควันไม้ตกไร่ละ 1000 กว่าบาทเท่านั้นจะเห็นได้ว่าต้นทุนลดลง ทุกวันนี้ปุ๋ยยูเรียไม่ได้ใช้แล้ว ส่วนผักที่ปลูกอยู่ในบริเวณข้างๆ เตาจะงามมากอย่างเห็นได้ชัด
ทุกวันนี้ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันมีเครือข่ายเกือบทุกอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีน้ำใจไมตรีเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ อาศัยธรรมชาติที่มีอยู่
นายประพันธ์ สีดำ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น: